ABOUT
NQI

เกี่ยวกับ NQI

จากทิศทางและนโยบายการพัฒนาประเทศ ที่รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศระยะยาว เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง” นั้น  การที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” (Value–Based Economy) ที่มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่า (Value Added) ไปสู่การสร้างมูลค่า (High Value)  หรือการสร้างผลิตภาพ (Productivity) ให้กับสินค้าและบริการของไทย ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในเวทีโลก

ในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศนั้น  ประเทศไทยจำเป็นต้องบริหารจัดการ โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure, NQI) ให้มีการทำงานที่สอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากล มีการทำงานส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ  คณะรัฐมนตรีจึงได้ให้ความเห็นชอบ “สมุดปกขาว: โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ” ในคราวประชุมเมื่อวันที่ … ธันวาคม 2561 เพื่อให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมกันบริหารจัดการกลไกและมาตรการต่างๆ ในอันที่จะสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศ NQI รวมถึงการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศ NQI นี้

เลื่อนลงด้านล่าง

ความเป็นมา

หลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาสินค้าส่งออกถูกตีกลับจากประเทศปลายทาง อันเนื่องจากพบการปนเปื้อน ข้อมูลบนฉลากไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน สินค้าไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบและรับรองที่ได้รับการยอมรับตามข้อตกลงระหว่างประเทศ เกิดความสูญเสียในส่วนของต้นทุนการผลิต เสียโอกาสในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ เสียความเชื่อมั่นจากประเทศคู่ค้า และเสี่ยงต่อการถูกปรับจากองค์กรเฝ้าระวัง  ซึ่งปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการผลิตและการดำเนินงานที่ด้อยคุณภาพ ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ

การสร้างให้สินค้าและบริการไทยได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกนั้น   “คุณภาพ” ของสินค้าและบริการจะเป็นปัจจัยชี้ขาดที่สำคัญในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ   นอกจากนั้น “คุณภาพ” ยังจำเป็นต่อการสร้างนวัตกรรม และนำนวัตกรรมเข้าสู่ตลาดอีกด้วย  เพราะความสามารถในการบ่งชี้ และระบุปริมาณขององค์ประกอบใหม่ จำเป็นต้องใช้การวัด การทดสอบที่ได้มาตรฐาน ที่นำไปสู่กระบวนการผลิตในยุคอุตสาหกรรม 4.0 อันจะช่วยนำพาประเทศเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมได้ในที่สุด

รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเป็นประเทศพัฒนาแล้ว  โดยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) เป็นแนวทางนำไปสู่การปฏิบัติ ที่มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไว้ครอบคลุมทุกมิติ โดยเฉพาะมิติของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม  ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0 ที่จะนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความไม่สมดุล

แต่เนื่องจากการแก้ปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพ ขาดการรับรองคุณภาพ หรือ ไม่ได้มาตรฐานการส่งออก ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการดำเนินงานขององค์กรใด องค์กรหนึ่ง  หรือการส่งเสริมของภาครัฐในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง   กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เล็งเห็นว่า “โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ” (Quality Infrastructure: QI) มีบทบาทและความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ ดังตัวอย่างของประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่กำหนดให้ QI เป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบบนวัตกรรมของประเทศ (National Innovation System: NIS) ที่ต้องเร่งการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและให้มีการประสานทางนโยบายกับองค์ประกอบอื่นของระบบ NIS  จึงได้จัดตั้งคณะทำงานจัดทำสมุดปกขาว “การจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ” ขึ้น โดยมีผู้แทนของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ   และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ  เป็นคณะทำงาน 

จากการที่โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ ได้เข้ามามีบทบาทเพิ่มสูงขึ้นในการนำสินค้าและบริการเข้าสู่ตลาดการค้าระหว่างประเทศนั้น  เพื่อให้เกิดความชัดเจนในความหมายและความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม   ในการประชุมประจำปีของ Network on Metrology, Accreditation and Standardization for Developing Countries (DCMAS) ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560  โดยมี United Nations Industrial Development Organization (UNIDO) เป็นเจ้าภาพ  ที่ประชุมได้ให้การรับรองนิยามของโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้ 

นิยาม

“โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ” คือ ระบบที่ประกอบขึ้นจากองค์กร ทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน โดยมีนโยบาย กฎหมายและกรอบการกำกับดูแล และแนวปฏิบัติร่วมกัน โดยพึ่งพากระบวนการ 5 ด้าน ได้แก่

  • มาตรวิทยา (metrology)
  • การกำหนดมาตรฐาน (standardization)
  • การรับรองระบบงาน (accreditation)
  • การตรวจสอบและรับรอง (conformity assessment) และ
  • การกำกับดูแลตลาด (market surveillance)

โดยหลักการแล้ว การดำเนินการทั้ง 5 ด้านควรเป็นอิสระจากกันในทางวิชาการ แต่มีการประสานทิศทางและนโยบายให้สอดคล้องกัน เพื่อให้องค์ประกอบทั้งหมดทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน

ซึ่งคณะทำงานฯ ได้จัดให้มีการระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมความคิดเห็นถึงเหตุผลความจำเป็นในการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศไทย  การวิเคราะห์สถานภาพปัจจุบัน และข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศไทย แล้วนำมาจัดทำเป็นร่างสมุดปกขาว “โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ”  เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่ง นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีบัญชาส่งเรื่องให้กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รับข้อเสนอแนะของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพิจารณาใช้ประโยชน์ต่อไป

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สมุดปกขาว “โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ” 

คลิกที่ภาพ เพื่ออ่าน หรือ Download
“สมุดปกขาว โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ”

เลื่อนลงด้านล่าง  ↓

go to top

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • พระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัดระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • พระราชบัญญัติการมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2551
  • พระราชบัญญัติการมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2551
  • Link กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาหารและยา (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)
  • Link กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร (กรมวิชาการเกษตร)
  • Link กฎหมายด้านการค้าขาย (กรมการค้าภายใน)
  • Link กฎหมายด้านปศุสัตว์ (กรมปศุสัตว์)

go to top